หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

DLNA ผู้ต้องหาป่วนรัฐสภาไทย

dlna-logo
หตุการณ์ผ่านมาหลายวันแล้วสำหรับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นกลางรัฐสภา ที่จู่ๆก็เกิดมีภาพโป๊โผล่กลางจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ ขณะที่กำลังมีการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอยู่ จนทำให้ต้องมีการหาสาเหตุต้นตอของภาพที่ปรากฏขึ้น ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือผิดพลาดทางเทคนิคประการใด เพราะจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าใครใช้วิธีใดทำให้เกิดเหตุดังกล่าว หรือถึงแม้ว่าจะหาเจอก็ไม่รู้ว่าจะมีใครกล้าเอาผิดหรือเปล่าสำหรับนักการเมืองไทย

แต่ที่แน่ๆจากเหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้จักเทคโนโลยีอีกตัวหนึ่งนั่นคือเทคโนโลยี DLNA ที่หลายๆคนซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเซียนด้านไอทีได้ออกมาวิเคราะห์วิจารณ์กันว่าเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์นี้ เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น DLNA คืออะไร สามารถทำอะไรได้บ้าง มีขีดความสามารถแค่ไหน ไปทำความรู้จัก DLNA ให้มากยิ่งขึ้นกันครับ

DLNA (Digital Living Network alliance) หรือ “พันธมิตรเครือข่ายชีวิตดิจิตอล” (แปลได้มั่วมากๆ) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยโซนี่ เมื่อมิถุนายน 2003 เพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถทำงานร่วมกันได้ ทั้งเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนภาพ เสียง และวิดีโอ ระหว่างกันได้โดยไม่มีปัญหาแม้จะต่างยี่ห้อกันก็ตาม
DLNA Product

ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 230 รายในแวดวงอุตสาหกรรมผู้ผลิตอุปกรณ์ชั้นนำของโลก ทั้งโทรทัศน์, อุปกรณ์เก็บข้อมูล (NAS:Network Attached Storage), โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต, ซอฟต์แวร์, กล้อง, เครื่องพิมพ์, เครื่องเล่นเกม, photo frames, media adapters, set-top boxes, AV receivers, เครื่องเล่นดีวีดี/บลูเรย์ดิสก์ คอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะสามารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันได้อย่างง่ายดายภายใต้เครื่องหมาย DLNA Certified®

นั่นคือหากเรามีอุปกรณ์ที่รองรับ DLNA และทำการเชื่อมต่อภายในวงเครือข่ายเดียวกันไม่ว่าจะเป็นแบบมีสาย หรือไร้สาย ก็สามารถแชร์ไฟล์ระหว่างกันได้ ไม่ว่าจะทำการค้นหา, ส่ง, จัดเก็บ, รับ, เล่น และพิมพ์เนื้อหาดิจิตอล โดยส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์จำพวก Smart Device ทั้งหลาย เช่น เราสามารถส่งภาพวิดีโอจากสมาร์ทโฟน ไปแสดงที่หน้าจอของสมาร์ททีวีได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อสายใดๆให้วุ่นวายทั้งสิ้น จากรูปด้านล่างน่าจะช่วยให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นนะครับ

dlna service


DLNA Device Classes สามารถจำแนกอุปกรณ์ออกเป็น 10 ประเภท ตามบทบาทหน้าที่ในการทำงานคือ
  1. Digital Media Servers (DMS) คืออุปกรณ์ที่ทำตัวเป็น Server ทำหน้าที่จัดเก็บไฟล์ต่างๆ เพื่อให้อุปกรณ์ตัวอื่นดึงไฟล์ไปใช้งานได้ ตัวอย่างอุปกรณ์ประเภทนี้เช่น PC และ NAS เป็นต้น
  2. Digital Media Players (DMP) คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เล่น (Play) ไฟล์ดิจิตอลมีเดีย โดยสามารถดึงไฟล์จาก DMS มาแสดงผลได้ ตัวอย่างอุปกรณ์ประเภทนี้เช่น ทีวี เครื่องเสียง และลำโพง
  3. Digital Media Renderers (DMR) คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แสดงผลเหมือนกับ DMP แต่ต้องมีอุปกรณ์ DMC มาควบคุมการทำงาน และดึงไฟล์มาให้
  4. Digital Media Controllers (DMC) คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมการเล่นและดึงไฟล์ Media จาก DMS ตัวอย่างอุปกรณ์ประเภทนี้เช่น Tablet และ PDA เป็นต้น
  5. Digital Media Printer (DMPr) คืออุปกรณ์ที่รับคำสั่งจาก DMP หรือ DMC เพื่อพิมพ์งานออกมา แน่นอนมันคือเหล่าบรรดาพริ้นท์เตอร์นั่นเอง
  6. Mobile Digital Media Server (M-DMS) ทำหน้าที่เหมือนกับ DMS แต่ว่าเป็นในส่วนของอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาหรือโทรศัพท์มือถือ
  7. Mobile Digital Media Player (M-DMP) ทำหน้าที่เหมือนกับ DMP แต่ว่าเป็นในส่วนของอุปกรณ์เคลื่อนที่เช่นเดียวกัน
  8. Mobile Digital Media Controller (M-DMC) ทำหน้าที่เหมือนกับ DMC แต่ว่าเป็นในส่วนของอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น PDA และโทรศัพท์มือถือ
  9. Mobile Digital Media Uploader (M-DMU) คืออุปกรณ์ที่สามารถอัพโหลดไฟล์มีเดียไปเก็บบน DMS หรือแสดงผลที่ DMP หรือ DMR ได้ อย่างเช่นกล้องดิจิตอลและโทรศัพท์มือถือ  และอันนี้แหล่ะครับที่ทำให้เกิดเหตุภาพโป๊โผล่กลางสภา โดยใช้มือถืออัพโหลดภาพไปแสดงที่หน้าจอทีวี
  10. Mobile Digital Media Downloader (M-DMD) คืออุปกรณ์ที่สามารถดาวน์โหลดไฟล์มีเดียจาก DMS มาเก็บหรือแสดงผลที่ตัวเองได้ อย่างเช่นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาและโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
จะเห็นว่าอุปกรณ์แต่ละชนิดสามารถทำงานได้หลายหน้าที่ ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกทำงานในสถานะไหน ในขณะที่บางอุปกรณ์ทำหน้าที่ได้แค่อย่างเดียว

สำหรับอุปกรณ์โมบายนั้นปัจจุบัน DLNA ถูกใส่มาให้ในเครื่องโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตรุ่นใหม่หลายๆ รุ่น เพราะสมาชิกของ DLNA หลายรายนั้นเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ อาทิ Sony, Samsung, LG, Nokia, Motorola, Huawei, HTC เป็นต้น แต่อาจใช้ชื่อทางการตลาดที่แตกต่างกันออกไป เพื่อแสดงถึงความเป็นตัวตนของแต่ละค่าย เช่น Sony ซึ่งเป็นผู้คิดค้นใช้ชื่อ dlna เลย, Samsung เรียก AllShare, LG เรียก SmartShare

Share App


ส่วน Apple ไม่ได้เป็นสมาชิกของ DLNA เพราะมักมีเทคโนโลยีและสร้างมาตรฐานเป็นของตัวเอง แต่ถึงแม้ว่าiPhone จะไม่ได้มีการชูประเด็นเรื่อง DLNA แต่ iPhone ก็สามารถใช้งาน DLNA ได้เหมือนกัน เพราะมีการทำแอพพลิเคชั่นควบคุม เฉพาะยี่ห้อ เฉพาะรุ่นบน iPhone ขึ้นมา เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อและแชร์ไฟล์แบบไม่จำกัดยี่ห้อได้ แต่ต้องโหลดแอพเพิ่มเติมจาก Appstore มี 2 แอพคือ MediaConnect และ iMediaShare

แนวทางการทำงานร่วมกันของ DLNA ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดเพื่อให้อุปกรณ์แต่ละประเภทและแต่ละยี่ห้อสามารถเชื่อมต่อถึงกันและแชร์ไฟล์กันได้นั้น ยังคงอยู่บนพื้นฐานของไอพีโปรโตคอล (IP Protocol) มีการกำหนดรูปแบบการเชื่อมต่อ การควบคุมจัดการ รูปแบบไฟล์ดิจิตอลมีเดียที่รองรับ รวมถึงระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลภายใน Home Network ของเรา รายละเอียดแต่ละเลเยอร์ตามรูปด้านล่างเลยครับ
    DLNA Layer
เห็นทีว่าครั้งต่อไปหากคิดจะซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คงต้องมองหาโลโก้ DLNA ไว้บ้างซะแล้ว…

*เพื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้นกรณีของรัฐสภา ชมการทดสอบส่งภาพจากมือถือผ่าน DLNA เข้าสู่ทีวีโดยทีมแบไต๋ไฮเทคด้านล่างเลยครับ




ที่มา : dlna.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...