3G,WI-MAX หรือ Wi-Fi อะไรคือบทสรุปเทคโนโลยี Broadband Wireless Access
ทำความเข้าใจกับ Mobile Broadband กับ Fixed Broadband กันก่อน
เทคโนโลยี Broadband Wireless Access หรือการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สายนั้นสามารถแบ่งเป็นสองประเภทหลักๆคือ Fixed Broadband กับ Mobile Broadband โดย Fixed Broadband หมายถึงบริการที่ตัวผู้ใช้บริการอยู่กับที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายไปไหน กับ Mobile Broadband คือผู้ใช้สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนก็ได้ตามที่ผู้ให้บริการมีเครือข่ายครอบคลุม
วันนี้ประเทศไทยผู้ให้บริการต่างหยิบเอาเทคโนโลยีต่างๆเพื่อสนับสนุนตลาด Mobile Broadband ทั้ง 3G และ Wi-Fi นำมาให้บริการโดย 3G ถือเป็นบริการหลัก และ Wi-Fi Hotspot เป็นบริการเสริมที่สำคัญและถูกใช้เป็น 3G Off-load และนอกจากนั้น Wi-Fi ย่าน 5GHz ยังถูกนำมาใช้ให้บริการ Fixed Wireless Broadband โดยมีให้บริการจากทั้งค่ายที่ให้บริการ xDSL แบบมีสายเดิม อย่าง TOT, TRUE และ CAT รวมไปถึงผู้ให้บริการรายใหม่ๆอย่าง AIS ก็ลงเข้าเล่นในตลาดนี้ด้วย
เราอยากได้ 3G แบบเต็มใบ
แน่นอนว่า 3G คือเทคโนโลยีที่สามารถสร้างได้รวดเร็วและครอบคลุมจำนวนประชากรได้มากที่สุด ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าได้เดินหน้ามาถึงจุดเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หลังจากที่ต้องฝ่ามรสุมอันแสนสาหัสตลอด10ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าขณะนี้คนไทยได้มีโอกาสได้ใช้ 3G แบบครึ่งใบกันมาสองปีแล้วก็ตาม แต่ 3G เต็มใบหรือ 3Gที่สมบูรณ์แบบจะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่ากสทช.จะเสร็จสิ้นการประมูลใบอนุญาต 3G ซึ่งถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง กระบวนการนี้น่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2555 (แต่ประกาศแบบนี้มาหลายรอบแล้ว ก็ไม่จบ!) ที่ว่า 3G ที่มีตอนนี้เป็นแบบครึ่งใบนั้นก็คือว่าขณะนี้ผู้ให้บริการ 3G ต่างก็นำเสนอบริการ 3G โดยยังมีข้อกังวลมากมายในแง่กฏหมาย ดีลบางดีลก็อยู่ในระหว่างพิจารณาจะส่งเรื่องฟ้องร้องเพื่อเพิกถอนการให้บริการ บางรายติดตั้งอุปกรณ์และให้บริการไปแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า อุปกรณ์ดังกล่าวจะต้องส่งมอบให้เป็นของรัฐหรือสามารถโอนย้ายไปใช้ตามสัญญาของใบอนุญาตใหม่ได้ ...ฟังแล้วปวดจิต ผู้ใช้บริการอย่างเราๆ ก็ได้แต่มองกันตาปริบๆ รอวันที่ผู้ใหญ่ใจร้ายทั้งหลาย จะได้หาทางออกที่เหมาะสม และทำอย่างไรก็ได้ ให้ผู้ประชาชนมีโอกาสได้ใช้ 3G ที่มีคุณภาพ ทั้งความเร็ว และพื้นที่ครอบคลุมมากๆ ในราคาที่เหมาะสมกับค่าครองชีพเสียที
Wi-MAX เค้าหายไปไหน?
เทคโนโลยี Wi-MAX ได้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มีแนวคิดที่จะนำมันมาใช้เหมือนกัน แต่สำหรับ Wi-MAX จากความเห็นส่วนตัว ผมฟันธงไปในงานสัมนาตั้งแต่ปี 53 แล้วว่า มันเป็นเทคโนโลยีที่ถูกทำหมันเป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงเวลาที่ 3G จากค่าย GSMA กำลังพัฒนาใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ เพราะทั้งอุตสาหกรรมเบนเข็มมุ่งพัฒนาทั้งอุปกรณ์สำหรับสถานีฐานและเครื่องลูกข่ายไปทาง 3G ล้วนๆ คงเหลือแต่ค่าย Intel ที่พยายามผลักดัน กรณีศึกษาที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าหาดูได้จากเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย ที่ Intel สนับสนุนผู้ให้บริการถึง 4 ราย แต่ทั้งหมดก็ขาดทุนและกำลังจะปิดตัวบริการนี้ในเร็ววัน แต่อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีพื้นฐานของ Wi-MAX ไม่ได้ถูกทิ้งไปให้เสียเปล่า วันนี้เครือข่าย 4G-LTE ต่างมีพื้นฐานเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อมาจาก Wi-Max ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นชื่อบริการว่า Wi-MAX อีกต่อไป แต่เราจะกลับมาพบกับพี่น้องของเค้าอีกครั้งในบริการ 4G ที่บ้านเราอาจจะได้ให้เร็วกว่าที่คิดก็ได้
Wi-Fi Hotspot พระเอกตัวจริงแห่งปี 2012 3G ค่ายไหนก็มี แต่คุณมีไวไฟด้วยป่ะ?
อย่างที่เราทราบๆกันอยู่แล้วว่าประเทศไทยเก้ๆกังเรื่อง 3G มานาน หากย้อนไปในปี 2552 การเจริญเติบโตของปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณทุกๆวินาที ทำให้เครือข่าย EDGE หรือแม้จะอัพเกรดเป็น EDGE+ ก็ไม่สามารถรองรับปริมาณข้อมูลมหาศาลนี้ได้ และฟางเส้นสุดท้ายก็มาถึง นั่นก็คือการเข้าสู่ตลาดประเทศไทยของ iPhone และ Android ซึ่งมีกรณีศึกษาในต่างประเทศแล้วว่า อุปกรณ์ใหม่นี้ต้องการ Bandwidth อย่างมหาศาลจาก Application ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้งานแบบ Multi-Media อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ผู้ให้บริการต่างต้องดิ้นรนเพื่อหาทางออกที่จะรองรับการใช้งาน Data เหล่านี้ให้ได้ ในขณะที่การออกใบอนุญาต 3G ก็ยังไม่สามารถทำได้ ในขณะนั้นคนไทยทั้งประเทศกำลังประสบชะตากรรมเดียวกันคือ ทนใช้เน็ตมือถือกากๆกันต่อไป
ในขณะเดียวกันผู้ให้บริการ Fixed Broadband ประเภท ADSL อย่างค่าย 3BB และ TRUE ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ Wi-Fi เพื่อให้บริการ Wi-Fi Hotspot โดยเบื้องต้นมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนและสร้างความแตกต่างให้กับบริการ ADSLแบบตามบ้าน ให้สามารถนำ Account เดิมสามารถมาใช้บริการ Wi-Fi Hotspot นอกบ้านได้ ซึ่งก็ถือว่าได้ผลและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งสองค่าย โดยในเวลา 2 ปีทั้งสองค่ายมีจุดบริการ Hotspot มากกว่ารายละ 1 แสนจุด ในขณะที่ค่ายมือถืออื่นๆยังคงนิ่งและเหมือนจะมองข้ามกลยุทธ์นี้ของค่าย True ไป แต่อย่างไรก็ดีเมื่อปีที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นกลยุทธ์พลิกแพลงสับขอหลอกกันไปกันมา จนในที่สุดวันนี้ผู้ให้บริการมือถือไทยทุกรายสามารถให้บริการ 3G ในเชิงพาณิชย์ได้ ที่ว่าได้ ได้แบบครึ่งใบดังที่กล่าวมาแล้วขั้นต้น
จนกระทั่งผู้ให้บริการได้ทดสอบและวัดผลความพึงพอใจรวมไปถึงประสบการณ์การใช้งานลูกค้าที่พึงพอใจเป็นอย่างยิ่งกับการใช้งาน Wi-Fi โดยจากผลของรายงานการศึกษาพบว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่ จะเลือกเชื่อมต่อ Wi-Fi ก่อนหากบริเวณนั้นมีสัญญาณ Wi-Fi ที่เค้าเป็นสมาชิก เพราะจะได้รับความเร็วที่สูงกว่า 3G มาก แต่พอหลุดจากพื้นที่ครอบคลุมของ Wi-Fi ก็จะกลับไปใช้ 3G เหมือนเดิม ซึ่งนอกจากจะลูกค้าจะได้ประโยชน์จากความเร็วที่ดีกว่า 3G แล้ว ฝั่งผู้ให้บริการเองก็ได้ประโยชน์จากการลดปริมาณข้อมูลจากเครือข่าย 3G ลงอย่างมีนัยสำคัญนั่นเอง หรือศัพท์ในอุตสาหกรรมโทรคมเรียกว่า Wi-Fi as a 3G Off-load
ชัดเจนว่า Wi-Fi Hotspot กลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางการตลาด จำนวนจุด Hotspot ที่ผู้ให้บริการมือถือรายไหนมีให้บริการมากกว่า ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของลูกค้าอย่างแน่นอน ทำให้พี่ใหญ่และพี่รองอย่าง AIS และ DTAC จำเป็นต้องเร่งสปีดหาบริการเสริมนี้มาให้บริการด้วยเช่นกัน โดย AIS นอกจากจะมีจุดให้บริการที่ติดตั้งเองอย่างหลอมแหลมอยู่บางส่วนแล้ว เลือกใช้ทางลัดโดยการเช่าเครือข่าย Wi-Fi Hotspot จากค่าย 3BB ซึ่ง3BB ไม่ได้เป็นคู่แข่งในตลาดมือถือ จึงถือเป็นทางเลือกที่ลงตัว และลูกค้า AIS ก็สามารถใช้บริการ Hotspot กว่า 100,000 จุดของ 3BB ได้ทันที โดยคิดค่าบริการเพียง 100 บาทต่อเดือนเท่านั้้น ส่วนค่าย DTAC ที่ถือว่ามาช้า แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา โดย DTAC ได้ติดตั้ง Wi-Fi Hotspot ในห้างเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 40 ห้างทั่วกรุงเทพฯ และทำการประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ตัวเลข 3,000 จุด กับ 200,000 จุดของ TRUE และ 3BB ที่กำลังจะได้เห็นเร็วๆนี้นั้น DTAC จะหากลยุทธ์ใดมาต่อกร ไม่ว่าจะมี 3G 4G หรือ LTE Wi-Fi จะยังคงอยู่ต่อไป
การเกิดขึ้นของจุดให้บริการ Wi-Fi Hotspot ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่มีให้บริการ 3G เท่านั้น แต่ในประเทศที่มีบริการ 4G แล้วอย่างในสหรัฐอเมริกา ผู้ให้บริการทุกรายต่างเร่งติดตั้ง Wi-Fi Hotspot เช่นกัน เพราะถึงแม้ว่า 4G จะมีความเร็วได้ถึงระดับ 100Mbps แต่ต้นทุนของอุปกรณ์ก็ยังสูงกว่า Wi-Fi Hotspot หลายสิบเท่า และความเร็วของ Wi-Fi ในปัจจุบัน ด้วยมาตรฐาน IEEE802.11ac จะสามารถทำให้ Wi-Fi เร็วได้ถึง 1Gbps ทำให้ค่า Cost Per Bit ต่ำกว่ามาก และข้อมูลสำคัญที่ยืนยันการเดินหน้าของ Wi-Fi as a 3G/4G Off-load คือการเข้าซื้อกิจการบริกษัทที่พัฒนาโซลูชั่น Wi-Fi ของผู้จำหน่ายอุปกรณ์โทรคม Tier1 ทั้งหลาย ต่างเป็นข้อยืนยันว่า Wi-Fi จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญของผู้ให้บริการมือถือต่อไป
สำหรับเมืองไทย จากวันนี้เป็นต้นไป เราจะได้เห็นการลงทุนจุดให้บริการ Wi-Fi Hotspot อย่างต่อเนื่องจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต และผู้ให้บริการมือถือทุกราย รวมไปถึงการสอดรับกับแผน SMART THAILAND ของกระทรวงไอซีที ด้วยโครงการ Free Wi-Fi และโครงการ OTPC (One Tablet Per Child) ที่จะเป็นแรงผลักดันกระตุ้นให้ผู้ให้บริการจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายทั้ง 3G และ Wi-Fi ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด แต่ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนนั้น ภาครัฐควารผลักดันให้การสร้างกระจายไปยังพื้นที่ห่างไกล เพื่อสร้างการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมของประชาชนในชนบท ซึ่งจะส่งผลเกิดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งอินเตอร์เน็ตถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญอันดับต้นๆในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารนี้
บทความโดย ฤทธิไกร ขัณฑวีระมงคล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น