หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

จับตาเทคโนโลยีล่าสุด by … ดร.พีรเดช

ป็นอีกบทความที่น่าสนใจและต้องจับตามองสำหรับ LTE เทคโนโลยีที่ถูกวางตัวให้เป็น 4G ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากในบ้านเรากำลังเริ่มทดสอบกันแล้ว (ทั้งๆที่ 3G ก็ยังร่อแร่) โดยพี่ใหญ่เอไอเอส เลยนำมาประดับไว้ในบล็อกไว้ให้ติดตามกันต่อไป

LTE_logoเทคโนโลยีไร้สายล่าสุดอย่าง Long-Term Evolution (LTE) เป็นที่หมายปองของโมบายล์โอเปอเรเตอร์ทั่วโลก เราน่าจะเห็นโครงข่ายที่ใช้ย่านความถี่แตกต่างกันทั่วโลก คาดกันว่าอาจจะมากเป็นสิบย่านความถี่ก็เป็นได้ เพราะในแต่ละประเทศก็มีความถี่ที่ว่างอยู่ต่างกันไป

ผู้ผลิตดีไวซ์คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างไม่กระพริบตาเนื่องจากความหลากหลายนี้ อย่างไรก็ตามกฎธรรมชาติทางธุรกิจจะเป็นตัวกำหนดเอง อย่างในโลกของ 2G ก็มีแบนด์ความถี่หลักๆ สามย่านเท่านั้น จากความแพร่หลายมักจะเป็นตัวกำหนด ในช่วงเริ่มต้นก็คงจะมีความถี่เพียงไม่กี่ย่านที่ดีไวซ์จะรองรับได้ มองกันว่าเราจะได้เห็นดีไวซ์ที่รองรับความถี่ต่ำอยู่ในตลาดทั่วโลกเกือบครึ่งหนึ่งในอีกสี่ปีข้างหน้า โอเปอเรเตอร์หลักๆ อย่าง Verizon Wireless และ AT&T ที่ใช้ความถี่ต่ำย่าน 700MHz ในสหรัฐฯ ข้อดีที่โอเปอเรเตอร์ต่างพยายามแย่งชิงย่านความถี่ต่ำมาให้บริการ ก็เพราะครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า และสัญญาณยังสามารถแพร่กระจายเข้าไปในตัวตึกได้ดีกว่าความถี่สูง ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานทางวิศวกรรมที่ใครๆ ก็ทราบกันดี ความถี่ต่ำจึงใช้ในการขยายพื้นที่ให้ครอบคลุม ส่วนความถี่ย่านสูงอย่าง 2.3GHz และ 2.6GHz ก็นำมาเสริมด้าน Capacity


ในอีกด้านหนึ่งผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ได้โครงการขนาดใหญ่ไป ต้องวางสถานีฐานเป็นหลักหมื่น ก็ยิ้มออกเพราะสามารถลดต้นทุนต่อหน่วยจากการผลิตคราวละมากๆ ได้เปรียบคู่แข่งในตลาด อย่างในสหรัฐฯ มีโอเปอเรเตอร์ที่วางแผนจะให้บริการแบบ Wholesale ผ่านโครงข่ายบรอดแบนด์ไร้สาย กับดาวเทียม สร้างกระแสได้ระดับหนึ่งทีเดียว โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้กับผู้เล่นรายใหม่เข้าตลาดโดยไม่จำเป็นต้องมีโครงข่ายเป็นของตนเอง ดำเนินธุรกิจแบบ Mobile Virtual Network Operator (MVNO) และมากไปกว่านั้นผู้ผลิตอุปกรณ์ยังได้ข้อตกลงทางธุรกิจดีๆ อย่างการดูแลระบบตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงการดูแลบริหารโครงข่ายแบบ Outsource ไปอีกด้วย


Harbinger จะเข้ามาสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการโมบายล์บรอดแบนด์ได้หรือไม่ ตามที่ได้ตกลงทางธุรกิจกับผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ของโลก เพื่อวางโครงข่ายให้เสร็จในอีก 8 ปีข้างหน้า ด้วยแบรนด์ LightSquared จะครอบคลุมประชากรในสหรัฐฯ 92% ภายในอีกห้าปี เมื่อดูแผนการเงินของโครงการนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าทางบริษัทเพิ่มเงินอีก 25% จากเดิมได้เตรียมไว้แล้วกว่า 41% รวมๆ แล้วก็ยังไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ คาดว่าทางบริษัทจะนำเอารายได้ที่เกิดจากตัวบริการมาเลี้ยงตัวบริการเอง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทาย อย่างที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ครอบคลุม เป็นปัจจัยพื้นฐานระดับต้นๆ สำหรับลูกค้าในการตัดสินใจเลือกให้บริการ หรือไม่ก็ต้องไปบีบเอา Payment term ยาวๆ หน่อยจาก Supplier หรือต้องมาด้วยการตลาดที่เหนือชั้น สามารถสร้างฐานลูกค้าได้ด้วยความรวดเร็ว และนำรายได้ไปต่อยอดสร้างโครงข่าย หมุนกันหลายตลบเลยก็ว่าได้

การดำเนินธุรกิจแบบ Wholesale สำหรับเทคโนโลยีอย่าง LTE นั้น มองแล้วในบางประเทศ น่าจะมีสัญญาณในเชิงบวก เนื่องจากโอเปอเรเตอร์ที่อยู่ในตลาด ไม่ได้รับย่านความถี่สำหรับ LTE กันทุกราย จึงถือว่าเป็นพันธมิตรที่น่าจะลงตัวที่สุด แต่ก็จะประมาทการควบรวมกิจการกับโอเปอเรเตอร์ที่มีความถี่อยู่ในมือไม่ได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดบริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ได้แล้ว ยังเป็นการรวมฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเทียบชั้นกับเบอร์หนึ่งเบอร์สองในตลาดได้อีกด้วย

สิ่งที่จะเล่าสู่กันฟังก็เป็นโอเปอเรเตอร์ในสหรัฐฯ ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless broadband service provider) ด้วยเทคโนโลยี WiMAX นาม Clearwire ผู้ที่มักจะถูกยกเป็นตัวอย่างอยู่เสมอในแวดวงธุรกิจ WiMAX แต่โอเปอเรเตอร์รายนี้ก็เริ่มปันใจไปลองควงเทคโนโลยีคู่แข่งอย่าง Long Term Evolution (LTE) ดูบ้าง ด้วยการประกาศจะทำการทดสอบ หรือเป็นเพียงการแสดงศักยภาพที่สามารถรองรับได้หลายเทคโนโลยีภายใต้แบรนด์เดียวกันแน่

โอเปอเรเตอร์รายนี้ ได้วางแผนที่จะทดสอบเทคโนโลยี LTE โดยนอกจากจะดูประสิทธิภาพความเร็วแล้ว ยังจะทดสอบการทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยีเดิมที่ใช้อยู่ แถมประกาศศักดาแสดงความยิ่งใหญ่ที่หาใครเทียบยากในเรื่องความถี่ และโครงข่าย all-IP ที่อ้างว่าไม่มีใครเทียบชั้นได้ ส่วนผู้ใช้ก็ไม่สนใจว่าเป็นเทคโนโลยีใด ตราบเท่าที่คุณภาพยังดี ราคาเป็นที่ยอมรับได้ และสามารถใช้งานได้ทุกเมื่อที่ต้องการ จุดเด่นที่ผู้ให้บริการรายนี้จะชูก็คืออุปกรณ์ Multi-mode ที่รองรับทั้ง WiMAX และ LTE ในตัวเดียวกัน โดยกำลังเจรจากับผู้ผลิตอุปกรณ์อยู่ เพื่อรองรับความถี่ย่าน 2.5GHz

ขออนุญาตข้ามฝั่งมาประเทศรัสเซีย ขณะที่มีปัญหาไฟป่าทำให้เมืองหลวงต้องเผชิญกับความร้อนสูงและควันไฟครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 130 ปีแล้ว ด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็ร้อนแรงเช่นเดียวกัน หลังจากแบรนด์ Yota เริ่มเปลี่ยนใจตีจากเทคโนโลยี WiMAX ไปซบไหล่เทคโนโลยี LTE โดยประกาศแผนออกมาค่อนข้างชัดเจน โอเปอเรเตอร์รายนี้มีความถี่ย่าน 2.5GHz ถึง 2.7GHz อยู่ราว 20MHz ถึง 30 MHz ล่าสุดมีกระแสข่าวออกมาว่าทาง Regulator อาจจะยึดความถี่คืนก็ได้ ถ้าเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นจริง คงจะได้เห็นการถกเถียงกันดียกใหญ่ อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในสหรัฐฯ และรัสเซีย เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยจะพึงปรารถนากันสำหรับกลุ่มที่สนับสนุนเทคโนโลยี WiMAX เนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็มาจากเอเชีย และอเมริกาเหนือนั่นเอง

TeliaSonera ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายแรกของโลกที่เปิดให้บริการ Long Term Evolution (LTE) ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2009 โดยในช่วงแรกครอบคลุมพื้นที่เพียงไม่กี่เมือง และกำลังเดินหน้าครอบคลุมพื้นที่เป็นหลักร้อยเมืองภายในสองปี คาดว่าจะขยายในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านระบบสื่อสัญญาณ (Transmission) ไม่ว่าจะเป็น Fiber optic หรือ Radio link ที่เชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ภายในโครงข่ายก่อน

ล่าสุดทางโอเปอเรเตอร์ได้ออกมากล่าวถึงความเร็วในการส่งข้อมูลที่อยู่ที่ 59.1 Mbps และในสภาพสัญญาณที่ดีสามารถส่งข้อมูลได้สูงถึง 80 Mbps ส่วนความถี่ที่ทางโอเปอเรเตอร์ใช้งานอยู่คือ 2.6GHz และวางแผนที่จะใช้ความถี่ย่าน 800MHz อีกด้วยถึงแม้จะยังไม่มีการเปิดประมูลในสวีเดนก็ตาม นอกจากจะวางโครงข่ายด้วยเทคโนโลยี LTE แล้ว โอเปอเรเตอร์รายนี้ยังทำการอัพเกรดระบบ 3G ที่มีอยู่เดิมเป็น HSPA+ (High-Speed Packet Access) ที่รองรับความเร็วสูงสุดที่ 21 Mbps ดูไปแล้วโอเปอเรเตอร์เจ้านี้เหมือนจะมีเม็ดเงินอยู่พอสมควร ทำให้กลยุทธ์การลงโครงข่ายต่างจากโอเปอเรเตอร์รายอื่นที่เลือกลงทุนเพียงเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งเท่านั้น

ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ โมบายโอเปอเรเตอร์ต่างพยายามผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีล่าสุดอย่าง LTE เพื่อตอบสนองความต้องการ การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายไร้สายที่เติบโตขึ้นทุกวัน คาดกันว่าในปี ค.ศ. 2015 จำนวนลูกค้าที่ใช้เทคโนโลยี LTE จะมากถึง 300 ล้านราย เทียบกับในปี ค.ศ. 2010 ที่น่าจะอยู่เพียง 5 แสนรายเท่านั้น ข้อมูลจากบริษัทวิจัยจูนิเปอร์ อย่างไรก็ตามการใช้งานอย่างแพร่หลายน่าจะใช้เวลาสองถึงสามปีจากเริ่มมีการเปิดให้บริการ

แล้วประเทศใดจะมีการใช้งานเทคโนโลยี LTE อย่างแพร่หลายในลำดับแรกๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นกลุ่มประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงอย่างในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และจีน ซึ่ง จีนก็ได้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ขึ้นแท่นเป็นอันดับสองของโลกไปแล้ว ปัจจุบันจีนได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3G หลักๆ ด้วยกันจากสามมาตรฐานคือ WCDMA (UMTS), CDMA2000 และTD-SCDMA โดยมาตรฐาน TD-SCDMA เป็นมาตรฐานสัญชาติจีนโดยแท้ เคยมีการวิเคราะห์กันไว้เมื่อหลายปีก่อนว่า จีนไม่ยอมให้ 3G เกิดในประเทศ ทั้งๆ ที่ต่างประเทศก็ได้ทยอยเปิดตัวบริการกันไปหมดแล้ว ก็เนื่องจากว่าต้องการให้ 3G มาตรฐานของตนมีความพร้อมมากที่สุด และสำหรับงานระดับโลกอย่าง World Expo ที่จัดขึ้นในประเทศจีนก็ให้ความสำคัญกับ TD-LTE อีกหนึ่งเทคโนโลยีในตระกูล LTE ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งดาวรุ่งที่หลายประเทศกำลังจะทดสอบระบบอยู่ อาทิเช่น จีน อินเดีย และรัสเซีย

ตามกฎธรรมชาติและเศรษฐศาสตร์ เราน่าจะเห็นการลงทุนเทคโนโลยีล่าสุดนี้ในพื้นที่เมืองที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น ซึ่งไม่แตกต่างจากทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไร้สายในแต่ละยุคเลย

By. Telecom Journal.Net

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...