หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

MNP บริการคงสิทธิเลขหมาย

MNP
ต่อไปนี้เราไม่ต้องอดทนกับโปรโมชันที่ไม่เป็นธรรม หรือคุณภาพการบริการแย่ๆ ของผู้ให้บริการอีกต่อไป  เมื่อเราจะมาทำความรู้จักกับ "บริการคงสิทธิเลขหมาย"  หรือนัมเบอร์พอร์ทบิลิตี้ เพราะก่อนหน้านี้หากเราต้องการจะเปลี่ยนผู้ให้บริการเครือข่าย นั่นหมายถึงเราต้องเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาและความไม่สะดวกในการติดต่อสื่อสารมากมาย  จนทำให้ต้องซื้อ SIM เพิ่มทำให้เกิดความยุ่งยาก และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ฉะนั้นบริการนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการที่ต้องการเปลี่ยนผู้ให้บริการ โดยไม่อยากเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์นั่นเอง  เอาล่ะไปทำความรู้จักกันเลย

MNP (Mobile Number Portability) หรือ บริการคงสิทธิเลขหมาย หมายถึงการที่ผู้ใช้บริการมีสิทธิจะเปลี่ยนหรือย้ายบริการจากผู้ให้บริการรายหนึ่งไปยังผู้ให้บริการอีกรายโดยยังคงใช้เลขหมายเดิม


ไม่ว่าเราจะรู้จักในชื่อ “เปลี่ยนเครือข่ายใช้เบอร์เดิม”, “ย้ายค่ายใช้เบอร์เดิม”, “เปลี่ยนเครือข่ายไม่เปลี่ยนเบอร์”, “ย้ายเครือข่ายเลขหมายเดิม” หรือ “เปลี่ยนเบอร์ไม่เปลี่ยนใจ” (เอ.. อันหลังเนี่ยไม่น่าใช่) ก็แล้วแต่ นั่นล้วนหมายถึงบริการคงสิทธิเลขหมายทั้งสิ้น โดยเบื้องต้นจะเป็นการให้บริการจากเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก่อน ซึ่งได้เปิดบริการไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2553 แต่ในช่วงแรกยังมีปัญหาและข้อจำกัดมากมาย จึงยังไม่สามารถให้บริการได้อย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากทางฝั่งของผู้ให้บริการนั้น จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนระบบให้รองรับเสียก่อน โดยมีขั้นตอนคือ

1.การปรับระบบหลังบ้านของผู้ให้บริการแต่ละรายเพื่อรองรับการโอนย้ายเบอร์ของลูกค้า พร้อมทั้งทดสอบระบบให้สมบรูณ์
2.การติดตั้งระบบเคลียริ่งเฮาส์พร้อมทั้งทดสอบระบบให้สามารถใช้งานได้สมบรูณ์
3.ขั้นตอนสุดท้ายการทดสอบระบบหลังบ้านของแต่ละรายระหว่างผู้ให้บริการด้วย

โดยระบบ เคลียริ่งเฮาส์ นั้นเป็นความร่วมมือกันของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 รายในไทย ได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท ทรูมูฟ จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมทุนกันจัดตั้ง บริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด (Clearing House for Number Portability Co.,Ltd.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการคงสิทธิเลขหมายทั้งนี้เพื่อให้เป็นตามประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องหลักเกณฑ์การคงสิทธิเลขหมาย

ทั้งนี้บริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท มีหุ้นสามัญจำนวน 2หมื่นหุ้น มีราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ 100 บาท โดยผู้ร่วมทุนทั้ง 5 รายถือหุ้นรายละ 20%

image
สิทธิการคงเลขหมายเดิมนี้สามารถแบ่งออกเป็น
1) สิทธิในการเปลี่ยนผู้ให้บริการ
2) สิทธิในการเปลี่ยนประเภทบริการ
3) สิทธิในการเปลี่ยนสถานที่เข้าถึงบริการ 

สำหรับลูกค้าที่ต้องการใช้บริการย้ายค่ายนี้มาดูเงื่อนไขและหลักเกณฑ์กันหน่อยครับ
  • มีค่าธรรมเนียมในการโอนย้าย 99 บาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)ต่อ 1 เลขหมาย ต่อครั้งที่ทำการโอนย้าย
  • ไม่ได้จำกัดจำนวนครั้งในการโอนย้าย แต่ผู้ใช้บริการจะต้องอยู่กับผู้ให้บริการรายใหม่ก่อนดำเนินการโอนย้ายอีก ครั้งไม่ต่ำกว่า 90 วัน รวมถึงลูกค้าที่เปิดหมายเลขใหม่
  • ไม่มีภาระผูกพันสัญญาในการใช้บริการกับผู้ให้บริการรายเดิม
  • หมายเลขที่โอนย้าย ต้องได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย
ลูกค้าเติมเงิน
  • จดทะเบียนกับเครือข่ายเดิมให้ถูกต้อง
  • กรณีที่มีเงินคงเหลือ แนะนำให้ใช้ให้หมด หรือโอนไปให้หมายเลขอื่น
ลูกค้ารายเดือน
  • ไม่มียอดค้างชำระกับผู้ให้บริการรายเดิม
ทั้งรายเดือนและเติมเงิน
  • ใช้บริการกับเครือข่ายเดิมมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 90 วัน
  • หมายเลขเปิดใช้งานได้ปกติ (ไม่ระงับบริการชั่วคราว)
  • ข้อมูล ชื่อ-หมายเลขที่ลงทะเบียนขอย้าย ต้องตรงกับผู้ให้บริการรายเดิม
ลูกค้าต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างสำหรับใช้ในการโอนย้าย

กรณีบุคคลธรรมดา

  1. กรอกแบบคำขอโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
  2. สำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการหรือใบขับขี่ หรือบัตรประจำตัวนักเรียนนิสิต นักศึกษาที่ออกโดยสถาบันการศึกษาที่ได้รับอนุญาต หรือบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าว หรือบัตรอื่นๆที่มีภาพถ่ายซึ่งออกให้โดยหน่วยงานของราชการหรือหนังสือเดินทาง พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
  3. กรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมายื่นคำขอแทน แนบหนังสือมอบอำนาจต้นฉบับ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
กรณีลูกค้าองค์กร
  1. กรอกแบบคำขอโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
  2. สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล ที่ออกไม่เกิน 3 เดือน พร้อมประทับตรา (ถ้ามี) ทุกหน้า พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
  3. สำเนาบัตรประชาชนของผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
  4. กรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมายื่นคำขอแทน แนบหนังสือมอบอำนาจต้นฉบับ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
ทั้งนี้ กทช.ก็มีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการ ทำการโอนย้ายเลขหมายให้เสร็จภายใน 3 วันทำการ เฉพาะลูกค้าขอย้ายต่ำกว่า 24 เลขหมาย ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเบอร์ที่จะทำการโอนย้ายและจำนวนหรือปริมาณของลูกค้า ที่ขอโอนย้ายในวันนั้น (หากเอกสารครบถ้วนและไม่มีข้อจำกัดในการโอนย้ายเลขหมาย ) สำหรับกลุ่มที่ขอโอนย้าย เกิน 25 เลขหมายใช้เวลา 20 วันทำการโดยประมาณ

หากบริการคงสิทธิเลขหมายนี้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่าย รับรองว่าจะต้องส่งผลให้ผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ต้องแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อรักษาฐานกลุ่มลูกค้า และช่วยให้การใช้ทรัพยากรเลขหมายโทรคมนาคมเป็นไปอย่างคุ้มค่าอย่างแน่นอน

และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมของแต่ละผู้ให้บริการเชิญทางนี้เลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...