หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เจาะลึกการทดสอบ 4G ในไทย

ลายๆคนอาจจะเคยได้ติดตามข่าวการทดสอบ 4G ของไทย โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมากันบ้างแล้วว่ามีงานแถลงข่าว 4G Thailand The First 100 Mbps เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 ที่บริเวณลานพาร์คพารากอน สยามพารากอน   ซึ่งเทคโนโลยีนี้ในต่างประเทศก็เริ่มใช้กันบ้างแล้ว ส่วนในไทยก็เพิ่งจะได้ใช้ 3G แบบอัพเกรดจาก GSM เครือข่ายเดิม ไม่ใช่ 3G มาตรฐาน ส่วนคลื่นมาตรฐานโดย TOT ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศซะที  ก็มาทำ 4G แล้วเหรอ? วันนี้เลยขอเจาะลึกการทดสอบในครั้งนี้กันซะหน่อยครับ


ทำความรู้จัก  4G

เทคโนโลยี LTE หรือ Long Term Evolution เป็นชื่อเรียกที่รู้จักกันว่า 4G (โทรศัพท์ยุคที่ 4 ) เป็น เทคโนโลยีอนาคต ที่ต่อยอดจาก 3G  ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถตอบสนองการใช้งานบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง โดยทำความเร็วตั้งแต่ 100 Mbps – 1024 Mbps (1Gbps) เลยทีเดียว เร็วกว่า 3G เดิมถึง 7 เท่า


แล้วมันต่างแค่ความเร็วหรือ?  ง่ายๆ เช่น 4G สามารถผ่านประชุมทางไกลคุยแบบโต้ตอบได้ทันที ไม่เหมือน 3G ที่จะมีอาการดีเลย์ แถม 4Gยังได้ภาพคมชัดแบบ HD กว่า 3G ด้วย  ( 3G เปรียบดั่งเคเบิ้ลทีวีดาวเทียม ที่ภาพออนแอร์มาจะช้ากว่า   4G ที่คุยกับคนอื่นได้อย่างตาเห็น ถามไปตอบกลับได้ทันทีไม่ต้องรอ แม้จะอยู่ต่างประเทศห่างไกลมากๆก็ตาม )


หรืออีกกรณีศึกษาคือ รถบังคับติดกล้องวีดีโอ ซึ่งภาพถ่ายวีดีโอจะส่งสัญญาณไปยังคอมพิวเตอร์ผ่านระบบ 4G หากรถเจอสิ่งที่ต้องหลบก็สามารถบังคับหลบได้ทันทีทันใด  ส่วนถ้าเปลี่ยนมาใช้สัญญาณ 3G  ด้วยอาการดีเลย์ของ3G อาจทำให้รถบังคับวิทยุหลบสิ่งกีดขวางหรือสวนมาไม่ทันก็จะถูกชนได้ เพราะภาพวีดีโอที่ส่งสัญญาณผ่าน 3G ดีเลย์


ด้วยความเร็วของ 4G  ที่เร็วแรงกว่า 3G นี้ การให้บริการ 4G ผ่าน Wifi Adaptor จะทำให้เพิ่มโอกาสในการเข้าถึง Internet ได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพียงมี Aircard 4G และ Wifi Adaptor เมื่อเชื่อมต่อแล้ว สามารถแชร์สัญญาณ 4G เพื่อให้ใช้พร้อมกันกับอุปกรณ์ที่รองรับสัญญาณ Wifi ได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เสมือนกับถนนที่มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น ก็สามารถที่จะรองรับรถได้มากขึ้น และวิ่งเร็วได้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ 4G ยังสามารถส่งไฟล์วีดีโอความละเอียดสูง และการถ่ายทอดสดแบบ Live Broadcast แบบ Realtime การประชุมทางไกลแบบ Interactive ที่สามารถโต้ตอบแบบทันที บริการ cloud service  สนับสนุนการเรียนผ่านทาง e-learning, การรักษาโรคทางไกล (Telemedicine) และ รวมไปถึงการชมภาพยนตร์ความละเอียดสูงบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งเหมาะสำหรับการทำธุรกิจด้านมัลติมีเดียและวีดีโอออนไลน์ในอนาคต


ต่างประเทศที่ทดสอบ 4G แล้วส่วนใหญ่อยู่ในแถบทวีปยุโรป  เช่นสวีเดน (ประเทศแรกของโลกที่ทดสอบ 4G)  ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ โปแลนด์   จีนก็เริ่มทดสอบแล้วเมื่อปี 2554 สิงค์โปรก็กำลังทำอยู่


ส่วนประเทศไทย เวลานี้ถึงเวลาได้ทดลองเทคโนโลยี 4G แล้ว  โดยความร่วมมือของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที, คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช., บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน), บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานส์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด การทดลอง 4G นี้เพื่อการเตรียมความพร้อมของภาครัฐในการออกใบอนุญาต และความพร้อมของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ รวมถึงดูความต้องการของคนไทย เกี่ยวกับการใช้งานMobile Internet ความเร็วสูง  ทั้งนี้เพื่อปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ และนำบริการ 4G ในไทยทำงานเต็มอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต โดยทั้งนี้ กสทช. เป็นผู้อนุมัติในการอนุญาตทดสอบ 4G ในครั้งนี้  แต่เป็นทดสอบเชิงเทคนิคชั่วคราวเท่านั้น ห้ามแสวงหากำไรเชิงพาณิชย์  ซึ่งการทดสอบ 4G นี้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาได้ร่วมทดสอบ 4G ด้วย
สำหรับโครงการทดสอบ เทคโนโลยี 4G  ครั้งนี้ มี 2 โครงการ คือ

โครงการทดสอบและทดลองระบบบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง Broadband Wireless Access-BWA  ในย่านความถี่ 2300 MHz โดย TOT ร่วมมือกับ AIS  ด้วยเทคโนโลยี Long Term Evolution ซึ่งใช้คลื่นความถี่ในลักษณะ Time Division Duplex หรือ TDD ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งในเขตพื้นที่ชั้นใน บริเวณถนนพระรามหนึ่ง ตั้งแต่ มาบุญครองถึงเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงชั้นนอกจากศูนย์ราชการ กระทรวงไอซีที และ สำนักงานทีโอที แจ้งวัฒนะ โดยมีจำนวนสถานีฐาน 20 แห่ง เปิดให้ทดสอบถึงช่วงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2555 
โครงการทดสอบและทดลองระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 4 ในย่านความถี่ 1800 MHz โดย CAT ร่วมมือกับ Digitalphone   ด้วยเทคโนโลยี Long Term Evolution ซึ่งใช้คลื่นความถี่ในลักษณะ Frequency Division Duplex หรือ FDD ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ในเขตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม โดยเบื้องต้นมีจำนวนสถานีฐาน 8 แห่ง เปิดให้ทดสอบถึงช่วงประมาณต้นเดือนมีนาคม 2555
(*ทั้งนี้ หากหมดเวลาทดสอบแล้วหากผู้ให้บริการยังต้องการทดสอบ 4G ต่อ ก็สามารถร้องขอ กสทช. เพื่อขอขยายเวลาทดสอบ 4G ได้อีก)


การทดสอบ 4G ครั้งนี้เป็นรูปแบบของการทดสอบเชิงเทคนิคชั่วคราว หรือ Technical Trial  ซึ่งมิได้แสวงหากำไรเชิงพาณิชย์ หรือ Non Commercial ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการร่วมทดสอบ ทั้งนี้จะได้มีการเปิดโอกาสให้ทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค พร้อมทั้งกลุ่มตัวอย่างของประชาชน นักเรียนนักศึกษา ได้ทำการทดสอบด้วย  หากประชาชนท่านใดที่สนใจทดลอง 4G นี้ สามารถลงทะเบียนเพื่อร่วมทดสอบ 4G เพื่อยืมใช้อุปกรณ์ USB Dongle ที่รองรับ 4G ที่บริเวณ AIS Shop สาขาที่ให้บริการทดสอบ 4G ในโซนที่จัดไว้ให้เท่านั้น ไม่สามารถเอากลับบ้านได้ เพราะพื้นที่ทดสอบยังจำกัดแค่สยาม แจ้งวัฒนะ และที่มหาสารคามเท่านั้น ซึ่งรายละเอียดการลงทะเบียนเพื่อขอร่วมทดสอบ 4G จะประกาศแจ้งผ่านทางเว็บไซต์ www.ais.co.th/4g   ทาง ais shop และทางสื่อต่างๆเร็วๆนี้

สำหรับการทดสอบ 4G นี้  จะทดสอบในเรื่อง ความเร็วอินเตอร์เน็ต, การประยุกต์มาใช้กับคอนเทนท์ มัลติมีเดียความละเอียดสูง, ทดสอบความต่อเนื่องของสัญญาณ 4G, เรียนรู้การติดตั้งสัญญาณระบบ 4G


ส่วนในเรื่องอุปกรณ์ในการทดสอบ 4G ต้องใช้อุปกรณ์พวก แอร์การ์ดและมือถือ ที่รองรับ 4G คลื่นความถี่ 2300 MHz และ 1800 MHz เท่านั้น พวกโทรศัพท์มือถือ 3G  หรือแอร์การ์ด 3G ที่จำหน่ายในไทยในตอนนี้จะใช้กับ 4G ที่ทดสอบนี้ไม่ได้ เพราะไม่รองรับความถี่นี้  ซึ่งตอนนี้อุปกรณ์อย่างมือถือ 4G และ แอร์การ์ด 4G ยังไม่มีขายในประเทศไทย (เริ่มมีบางรุ่นที่สามารถรองรับเทคโนโลยี 3G และ LTE แล้ว)  โดยมือถือ 4G ถ้าสังเกตง่ายๆ จะเป็นรุ่นที่บอก LTE นี่เอง  และ ต้องเปลี่ยนซิมใหม่เป็น ซิม4G ด้วย     เบื้องต้นอุปกรณ์ที่จะใช้ในการทดสอบนี้ได้รับการสนับสนุนจากพาร์ทเนอร์ ผู้ผลิตอุปกรณ์การสื่อสาร 4G จาก Cisco, Huawei, Nokia-Siemens Network
ในต่างประเทศจะให้บริการทั้ง 3G และ 4G ควบคู่กันไป โดย 3G จะเป็นโครงข่ายหลักที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ สำหรับใช้งาน data ในชีวิตประจำวันทั่วไป ส่วน 4G จะเหมาะกับกลุ่มเฉพาะที่มีการใช้งานเชิงลึกที่ต้องการความเร็วแรงเพิ่มขึ้นไปอีก
แล้วประเทศไทยจะมีโอกาสได้ใช้ 4G แบบจริงๆในเชิงพาณิชย์ เมื่อไหร่?
นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ขึ้นอยู่กับนโยบายเชิงพาณิชย์ของ กสทช  เจ้าของความถี่นี้ว่าจะทำในแบบเชิงพาณิชย์เมื่อไหร่ ความจริงแล้ว TOT น่าจะทำได้เลย เพราะความถี่ 2300 MHz นี้อยู่กับ TOT อยู่แล้วในการใช้งาน ส่วน 1800 MHz ขึ้นอยู่กับการตีความเมื่อหมดอายุสัมปทานนี้ว่าจะทำอย่างไรกับคลื่นความถี่ 1800 MHz นี้ ”

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า “บอร์ด กทค. มีแนวคิดจะเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.3 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการ 4G LTE ภายในปี 2557  ซึ่งจะต้องรอให้แผนจัดเรียกคืนคลื่นความถี่ (รีฟาร์มมิ่ง) เสร็จก่อน เพราะปัจจุบันผู้ถือครองคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และกองทัพ”
ในขณะเดียวกันในระหว่างทดสอบ 4G ก็ต้องจับตาการประมูลใบอนุญาต 3G  ความถี่ 2100 MHz ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ด้วย

สำหรับรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทดสอบ 4G นี้ สามารถคลิกชมได้ผ่านทางเว็บไซต์โครงการ 4G Thailand The First 100Mbps

ที่มา : it24hrs.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...