ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล กสทช.หรือสำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ แนะผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือย้ายค่าย หรือใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย (Number Portability) ในการเปลี่ยนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไปค่ายอื่นที่มีอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคในการตัดสินใจแก้ปัญหาระบบเครือข่ายล่ม หากไม่พอใจการให้บริการและมาตรการเยียวยาของดีแทคจากเหตุเครือข่ายล่มบ่อยครั้ง ด้วยเหตุที่ว่า กสทช.ก็ไม่มีบทลงโทษกับดีแทคแต่อย่างใด เนื่องจากประเทศไทยมีกฏหมายที่ล้าหลังจึงไม่มีบทลงโทษในกรณีดังกล่าว อีกทั้งประกาศ หรือกฏระเบียบของกสทช.ฉบับเก่าก็ไม่มีอำนาจที่จะลงโทษในกรณีเช่นนี้ ดังนั้นในอนาคตทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมหรือกทค.จะต้องมีการปรับปรุงกฏหมายใหม่ให้มีความครอบคลุมกว่าในอดีต ซึ่งในตอนนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่
พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกทค.กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือต่ำในการใช้งานในช่วงนี้เนื่องจากผู้ให้บริการเกือบทุกรายต่างไม่มีการลงทุนเครือข่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื่องจากรอการลงทุนใบอนุญาตใหม่บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า ผลการตรวจจสอบของเจ้าหน้าที่กสทช.ที่ลงพื้นที่ พบว่าระบบเอ็มเอสซี (MSC) ของดีแทคในพื้นที่ภาคใต้ไม่ได้รับความเสียหายตามที่ดีแทคกล่าวอ้างมาในเบื้องต้น แต่กสทช.ยังไม่ฟันธงว่า ดีแทคเป็นผู้แจ้งข้อมูลเท็จ เพราะจะให้โอกาสดีแทคทำหนังสือรายงานอย่างเป็นทางการถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในวันที่ 5 ม.ค. อีกครั้ง ในส่วนของสำนักงานกสทช.ก็จะนำรายงานดังกล่าว เข้าวาระที่ประชุมบอร์ดกสทช.ในวันนี้
กสทช.ยังเตรียมจะส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกราย คือเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ ทีโอที และ กสท หากจะปรับปรุงอะไรที่เกี่ยวกับเครือข่ายให้ดูแลให้ดี และหากมีการปรับปรุงหรืออัปเกรดอุปกรณ์ต่างๆจะต้องแจ้งให้ทางสำนักงานกสทช.รับทราบก่อน
สำหรับปัญหาเครือข่ายล่มของดีแทคเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ดีแทคได้ทำหนังสือชี้แจงกสทช.ว่า เวลาประมาณ 15.30 น.ของวันที่ 5 ม.ค.พบว่าชุมสายหลัก หรือ โมบาย สวิตชิ่ง เซ็นเตอร์ (MSC) ของบริษัทที่จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งให้บริการแก่ลูกค้าจำนวนประมาณ 9 แสนรายใน 7 จังหวัดภาคใต้ คือ ชุมพร สุราษฎร์ฯ ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และพังงา มีประสิทธิภาพลดลง ส่งผลให้อัตราความสำเร็จในการเชื่อมต่อของลูกค้าในพื้นที่ลดลงเหลือเพียง 50-60%
โดยกสทช.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว ซึ่งในบันทึกข้อความของเจ้าหน้าที่ได้ระบุถึงเรื่องผลการตรวจสอบชุมสายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) จ.สุราษฎร์ธานี เลขที่ ทช 2242/2555 วันที่ 8 ม.ค.2555 ตามคำสั่งของสำนักงานกสทช.ได้สั่งการให้กสทช.เขต 12 นครศรีธรรมราช ดำเนินการตรวจสอบชุมสายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยการดำเนินการ เพื่อหาข้อเท็จจริง กรณีที่เน็ตเวิร์กของดีแทคไม่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่ 7 จังหวัด ภาคใต้ตอนบนประกอบด้วย จังหวัด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ตั้งแต่เวลา 15.00 - 20.00 น.ในวันที่ 5 ม.ค.2555
โดยนายสมคิด นาคะพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานกสทช.เขต 12 (นครศรีธรรมราช) ได้แจ้งมายังนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ว่านายชาญณรงค์ แพรกปาน นายอภิเชษฐ์ ห่อหุ้ม และนายบัญชา พุทธศุภะ พนักงานของกสทช.ได้เดินทางไปตรวจสอบชุมสายเอ็มเอสซีของดีแทค ที่จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายสมโชค เต็งรัง ตำแหน่งแมนเนจเจอร์ เซอร์วิสแอนด์คิวเอ เซาท์ จากดีแทค เป็นผู้นำตรวจ
ผลปรากฎว่า ชุมสาย MSC ของดีแทคใช้อุปกรณ์ของโนเกีย DX200 และโนเกีย MSS ซึ่งอุปกรณ์ทั้ง 2 ตัวยังทำงานได้ตามปกติ และนายสมโชคได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชุมสายโทรศัพท์ที่จ.สุราษฎร์ฯ จะรับผิดชอบเฉพาะส่วนที่เป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของชุมสายเท่านั้น ส่วนระบบควบคุมซอฟต์แวร์ ดีแทคส่วนกลาง เป็นผู้รับผิดชอบดูแลทั้งหมด สำหรับกรณีปัญหาข้างต้น อุปกรณ์ชุมสายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของดีแทคเป็นปกติ และการแก้ไขระบบนั้น ความรับผิดชอบเป็นของส่วนกลาง
อ้างอิง
www.manager.co.th
www.bangkokbiznews.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น