หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

NFC ใกล้อีกนิดเพื่อชีวิตที่ง่ายขึ้น

NFC
NFC เป็นเทคโนโลยีไร้สายอีกตัวที่จะเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของพวกเรามากขึ้นทุกวัน เมื่อ NFC กำลังจะกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ถูกติดตั้งมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ เหมือนอย่างกับบลูทูธ (Bluetooth) หรืออินฟราเรด (Infrared) [แต่อย่างหลังเนี่ยแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว] เพราะไม่ว่าทั้งผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่และสายผู้ผลิต SIM card ทั้งหลายต่างหันมาสนใจและจะผลักดันให้นำมาใช้ในวงกว้าง ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถทำให้อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือของเราเปลี่ยนเป็นกระเป๋าเงิน Electronic ดีๆ นี่เอง ใช้ชำระค่าบริการต่างๆ โดยเพียงแค่เอาโทรศัพท์ไปแตะยังอุปกรณ์อ่านข้อมูล ใช้เป็นบัตรเดินทางรถไฟฟ้า ดูข้อมูลหนังที่กำลังเข้าฉาย เป็นต้น เพื่อสนองต่อความสะดวกสบาย และการใช้ชีวิตที่ง่ายขึ้น (หรืออาจจะยุ่งยากมากขึ้นสำหรับหลายๆคน)  แล้วอย่างนี้ เทคโนโลยี NFC คืออะไร, ทำงานอย่างไร ไปทำความรู้จักกันครับ

NFC หรือ Near Field Communication คือการสื่อสารข้อมูลไร้สายระยะใกล้ ใช้งานที่ระยะ 4-10 เซนติเมตร รับส่งข้อมูลด้วยความเร็ว 424 Kbits ต่อวินาที เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาบนพื้นฐานของ RFID (Radio Frequency Identification) ซึ่งก็เป็นเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายระยะสั้น (Short-range wireless technology) อีกตัวหนึ่งที่ทำงานบนคลื่นความถี่ 13.56 MHz

NFC chart 
Near Field Communication เอื้อให้ผู้บริโภคสามารถทำธุรกรรม แลกเปลี่ยนข้อมูลรูปแบบดิจิตอล และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างง่ายดายด้วยการสัมผัส NFC ได้ถูกใช้งานในหลากหลายธุรกิจและกำลังจะถูกนำมาใช้งานหลากหลายรูปแบบในอนาคตเช่น การควบคุมการเข้าออก การแลกเปลี่ยนข้อมูลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคทั่วไป ธุรกิจการดูแลสุขภาพ การเก็บรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูล การสะสมแต้ม คูปองอิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงิน หรือใช้ในระบบขนส่ง

NFC แบ่งเป็น 2 ประเภท คือแบบเปิด (Open NFC) และแบบรักษาความปลอดภัย (Secure NFC)
  • Open NFC หมายถึงการเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารที่มีเทคโนโลยี NFC เข้าด้วยกัน หรือการใช้อุปกรณ์สื่อสาร NFC เพื่ออ่าน NFC tag (ชิพที่ฝังในโปสเตอร์ การ์ด หรือสิ่งพิมพ์) เพื่อรับข้อมูลหรือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
  • Secure NFC คือ การใช้อุปกรณ์สื่อสารเสมือนกระเป๋าสตางค์ หรือเครดิตการ์ด เพื่อจ่ายค่าสินค้าหรือบริการ เพียงแค่วางลงบนเครื่องอ่าน NFC เท่านั้น
NFC Mode

NFC มีโหมดในการใช้งาน 3 โหมดดังนี้

NFC Card Emulation Mode                                                                                                 
ในโหมดนี้จะทำงานเสมือนเป็นบัตร Contactless ซึ่งนั่นหมายความว่าอุปกรณ์มือถือตามมาตรฐาน NFC จะทำตัวเป็นบัตร Contactless Smart Card เพื่อใช้ในการทำธุรกรรม ซึ่งมีการนำมาใช้งานจริงในประเทศไทยแล้ว เช่น Touch SIM จาก True ซึ่งใช้กับระบบ Truemoney หรือเป็นบัตรเครดิต Visa Wave เช่น GSM Mobile payWave จาก AIS และธนาคารกสิกรไทยบนมือถือโนเกีย แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก

นอกจากนั้นเราสามารถขยายการใช้งานอุปกรณ์ NFC ชิ้นเดียวเป็นบัตรหลายใบได้เช่น เป็นบัตรเครดิต บัตรโดยสารรถ BTS MRT บัตรเงินสด บัตรสะสมแต้ม เป็นต้น ทำให้เมื่อ NFC เป็นที่นิยมและผู้ให้บริการบัตรต่างๆ ทำ Application สำหรับบริการของตนลงบนอุปกรณ์ เราอาจไม่ต้องพกบัตรมากมาย เช่น Visa อาจจะออก Application ที่สามารถแทน Visa Wave หลายบัญชีและให้เราเลือกบัญชีที่ต้องการใช้ได้จากโทรศัพท์มือถือ หรือ Sony อาจจะออก Application ที่ใช้จำลองบัตร FeliCa เพื่อที่เราสามารถเอาโทรศัพท์มือถือของเราไปลงทะเบียนกับ MRT เพื่อใช้แทนบัตรโดยสารได้ ในโหมดนี้เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้ เราจึงจะได้ประโยชน์จาก NFC อย่างเต็มประสืทธิภาพมากที่สุด

Peer-to-Peer Mode                                                                                                             
ในโหมดนี้จะทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ NFC ด้วยกัน คล้ายกับการที่มือถือมี Bluetooth แล้วทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยการการจับคู่ (Pair) เครื่องเข้าด้วยกันแล้วแลกเปลี่ยนข้อมูลเช่นนามบัตร รูปถ่าย แฟ้มข้อมูลอื่นๆ แต่ว่าสำหรับ NFC แล้ว ไม่ต้องมีการจับคู่เหมือน Bluetooth เพียงแค่เลือกข้อมูลที่ต้องการแลกเปลี่ยนแล้วนำอุปกรณ์ NFC ที่รองรับโหมดนี้มาแตะกัน ข้อมูลก็จะทำการถ่ายโอนกันระหว่างเครื่อง เพราะรัศมีทำการของ NFC อยู่ในระดับน้อยกว่า 10 ซม. ซึ่งต่างจาก Bluetooth ซึ่งออกแบบไว้ให้สื่อสารข้อมูลในระยะหลายเมตร
การแลกเปลี่ยนข้อมูลทำได้ผ่านโปรโตคอล TCP/IP หรือ OBEX (เหมือนกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่าน Bluetooth หรือ IrDA) นอกจากแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้วยังสามารถใช้ทำการ synchronize ข้อมูลกับอุปกรณ์อื่นๆได้ด้วย

Reader/Writer Modeในโหมดนี้อุปกรณ์ NFC สามารถทำตัวเสมือนเป็นเครื่องอ่านเขียน Contactless Smart Card (หรือบางครั้งเรียกว่า Tag) โดยจะสามารถอ่านข้อมูลจาก Tag ที่ติดอยู่ใน Smartposter หรือจุดให้บริการข้อมูล การประยุกต์ใช้งานเช่น ทำการส่งเสริมการขายโดยแจกคูปองส่วนลดสำหรับ 50 คนแรกที่มาอ่านโฆษณาที่จุดให้บริการ ซึ่งการกำหนดจำนวนแบบนี้ไม่สามารถทำได้โดยการใช้ 2D Bar Code นอกจากนี้ Tag ยังสามารถทำ One-Touch Setup สำหรับ Wi-Fi และ Bluetooth คือช่วยในการจับคู่อุปกรณ์ NFC ที่มี Bluetoothหรือ Wi-Fi ในโหมด Ad-hoc เพียงแค่เอาอุปกรณ์มาแตะกันก็จะการจับคู่ให้อัตโนมัติ

NFC Usage


NFC มีมาตรฐานของตัวเองคือ ISO 18092 แต่ก็ให้ความสำคัญกับการเข้ากันได้กับมาตรฐาน Contactless เดิมที่เป็นที่นิยมในตลาดนั่นคือ ISO 14443 ซึ่งถูกใช้งานในอุปกรณ์เหล่านี้
  • Access Control เช่น บัตร iCLASS ของ HID
  • Contactless Smart Card เช่นบัตรโดยสาร BTS หรือบัตร E-Purse ของไทยสมาร์ทการ์ดที่ใช้กับร้าน 7-eleven
  • Biometric Passport ที่เรียกกันว่า E-Passport
  • PayPass Contactless Credit Card เช่น Visa Wave (หรือ payWave) ของธนาคารกรุงเทพและกสิกรไทย
นอกจากนั้นยังรองรับ RFID Smart Card ของ Sony ตามมาตรฐาน JIS X6319-4 ที่ชื่อ FeliCa ซึ่งถูกใช้กันแพร่หลายในเอเชีย เช่นบัตรโดยสารและเหรียญรถใต้ดิน MRT กรุงเทพ บัตร Octopus ของฮ่องกง ระบบชำระเงินบนมือถือของ NTT DoCoMo เป็นต้น เนื่องจาก ISO 18092 ใช้ RF Modulationแบบ Manchester เช่นเดียวกับ FeliCa สามารถประยุกต์ใช้งานได้แบบ Contactless Smart Card เพราะครอบคลุมมาตรฐานที่ใช้งาน Contactless Smart Card ส่วนใหญ่บนโลก แต่ว่ามาตรฐาน NFC ยังเปิดให้มีการใช้งานมากกว่านั้น

ข้อดีของ NFC
  • ง่ายต่อการใช้งาน เพียงแค่การสัมผัส
  • ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ได้กับหลายอุตสาหกรรม หลายสภาวะแวดล้อม
  • มีมาตรฐานรองรับและเป็นมาตรฐานเปิด ได้แก่ ISO, ECMA และ ETSI
  • เร็วและง่ายต่อการติดตั้ง เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีไร้สายแบบอื่น เช่นไม่ต้องจับคู่ (Pair) เหมือนกับบลูทูธ
  • ปลอดภัยเมื่อคำนึงถึงการใช้งานซึ่งถูกออกแบบให้ทำงานในระยะใกล้ไม่กี่เซนติเมตร
  • สามารถใช้งานได้กับเทคโนโลยีบัตรแบบสัมผัสความถี่ 13.56 MHz ที่มีอยู่ในตลาดแล้วได้
  • รองรับการใช้งานที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล
  • ใช้พลังงานน้อยมาก
  • สามารถใช้งานกับอุปกรณ์ที่ไม่มีไฟฟ้าอยู่ภายในก็ได้ (Passive Device)


NFC_uses


ความแตกต่างระหว่าง NFC และ RFID คืออะไรอันที่จริงผู้ที่คร่ำหวอดในวงการเกษตร ค้าปลีก ห้องสมุด หรือวงการโทรคมนาคม อาจจะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลแบบไร้สายระยะใกล้นี้แล้วในรูปแบบ RFID ซึ่งมันจะเป็นชิปขนาดเล็ก ที่ฝังอยู่ในเสื้อผ้า ข้างบรรจุภัณฑ์ บัตรรถไฟฟ้า (BTS, MRT) หรือแม้กระทั่งที่ใบหูของวัวนม เพราะเพียงแต่สิ่งมีชีวิต/ไม่มีชีวิตเหล่านี้เคลื่อนที่ผ่านเครื่องอ่าน ก็จะสามารถระบุได้ว่าสิ่งของที่ผ่านไปคืออะไร แต่ความแตกต่างระหว่าง NFC และ RFID ที่สำคัญคือ RFID นั้นจะทำหน้าที่เป็นตัวอ่านอย่างเดียว ไม่สามารถเขียนเนื้อหาลงไปให้อุปกรณ์อื่นอ่านต่อได้ และราคาถูกกว่า

NFC กับมือถือ มีการใช้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ล่าสุดนำไปฝังไว้หลังตัวเครื่องอย่างที่เห็นในมือถือ Nexus S หรือหลากแบรนด์มือถือที่ฝังชิป NFC ไว้ก่อนหน้านี้ โดยมีโนเกียเป็นผู้นำนวัตกรรมเช่น โนเกีย 6212, ซัมซุง SHW-A170K และความเคลื่อนไหวล่าสุดคือ กูเกิลได้อัปเกรดให้เฟิร์มแวร์แอนดรอยด์ 2.3.3 รองรับชิป NFC ทั้งหมดแล้ว
โดยในแรกเริ่มจะเน้นการใช้ NFC บนมือถือเพื่อแทนกระเป๋าสตางค์เงินสด ในการชำระค่าโดยสาร ค่าอาหาร ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่มาก โดยรูปแบบการจ่ายเงินด้วยชิป NFC บนมือถือนี้มีใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และเกาะฮ่องกง ล่าสุดรัฐบาลจีนก็เตรียมลุยระบบ NFC กับโครงสร้างคมนาคมของประเทศด้วยเช่นกัน  ส่วนในอเมริกา และยุโรป ก็ได้บุกเบิกระบบการจ่ายเงินด้วยการแตะมือถือไปแล้วระยะหนึ่ง เช่น ค่ายมือถือ 3 ค่ายดังของอเมริกาอย่าง AT&T, T-Mobile USA, และ Verizon Wireless พร้อมใจจับมือกันสร้าง และทดสอบระบบการจ่ายเงินบนมือถือ (Mobile Payment)

ส่วนไทยเองได้เริ่มนำนวัตกรรมนี้เข้ามาเมื่อ 3 ปีก่อนโดยค่ายบัตรเครดิตวีซ่า ที่นำเอาระบบเพย์เวฟ มาใช้กับโนเกีย 6212 ซึ่งก็มีพันธมิตรรายใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย ค่ายมือถือเอไอเอส ร่วมกับร้านค้ากว่า 1,500 ร้านพร้อมใจกันทดลองระบบนี้ แต่ก็ไม่ต่อเนื่องเพราะมือถือรุ่นนี้ไม่ได้เป็นที่นิยม และต่อมาทางค่ายทรูก็ได้ออก “ทัชซิม” ที่ร่วมพัฒนาจากทีมกูรูในจีน ออกเป็นซิมที่ติดแผงวงจร RFID เข้าไป แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดไว้ เพราะมีขนาดใหญ่ และใช้กับมือถือไม่ได้ทุกรุ่น จนปัจจุบันจึงเน้นการใช้งานแทนบัตรพนักงานในตึกทรูรัชดาแทน

กรณีล่าสุดบริษัท one2TOUCH จากนอร์เวย์ ได้นำเทคโนโลยี NFC มาช่วยให้มือถือสมาร์ทโฟนสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆได้ โดยการผลิตคีย์บอร์ดซิลิโคนที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ตเพียงแค่วางเครื่องลงไปบนคีย์บอร์ดเท่านั้นก็ใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการเชื่อมต่อสาย ดูต่อได้ที่นี่ คีย์บอร์ด NFC

สุดท้ายแล้ว NFC จะแพร่หลายในบ้านเราหรือไม่ คงต้องรอความพร้อมในหลายๆด้านประกอบกัน ทั้งในส่วนของผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ยังมีจำกัดอยู่ ผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ รวมทั้งเราทุกคน แล้วมือถือของท่านรองรับ NFC แล้วหรือยัง..

อ้างอิง : NFC Forum, blog.whatphone.net, manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...